เมื่อก่อนเคยอ่านหนังสือเกียวกับประเพณีจีน อ่านแล้วน้ำตาร่วงเลย
หญิงจีนสมัยก่อน... มีความเชื่อว่าเป็นช้างเท้าหลัง อารายทำนองเนี่ย...
นี่ยกมา 1 เรื่องให้อ่านก่อน
ยาวหน่อย แต่น่าอ่านน่ะ
ท่ามกลางสำเนียงแผ่วพลิ้วของสายลม และแสงแดดอันแห้งผาก ณ ชนบททางหรดีทิศของจีน
หญิงชรานางหนึ่งนั่งทอดหุ่ยอาลัยวันวาน ที่ผ่านไปอย่างเดียวดาย ทว่า พลันที่เธอ คลำฝ่าเท้าอันเรียวบางของเธอ อนิจจานัยน์ตาของเธอกลับเอ่อล้นไปด้วยน้ำตา ที่ พรั่งพรูมามิขาดสาย พร้อมภาพความเจ็บปวดในอดีตที่ยากลืมเลือน
โจวกุ้ยเจิน แม่เฒ่าวัย 86 เจ้าของเท้าดอกบัวทองคำ ซึ่งมิเคยย่างกรายออก ไปเกินกว่ากำแพงดินของหมู่บ้านหลิวอี้ว์ มณฑลหยุ นหนัน (ยูนนาน) กระทั่งเมื่อเธอเริ่มเต้นรำประกอบแผ่นเสียง เธอจึงเริ่มมีโอกาส ได้ออกไปยลโฉมโลกภายนอก ที่จำต้องอุดอู้อยู่ในหมู่บ้านนั้น มิใช่ว่าเธอมิอยากออกไปท่องโลกกว้าง
ทว่า ความเชื่อคร่ำครึในสังคมจีนที่ " ขนาดเท้าเป็นมาตรฐาน ตัดสินคุณค่าของผู้หญิง ยิ่งเล็กยิ่งงาม " ทำให้แม่เฒ่าโจวถูกจับมัดเท้าแต่เด็ก จนเท้าของเธอมีรูปร่างผิดแผกจากมนุษย์ทั่วไป ด้วยมีขนาดเท่าซองบุหรี่ ส่วนกระดูกเท้านั้นเล่า ก็งองุ้มผิดธรรมชาติ
มาตรความสวยงาม ที่สังคมชายเป็นใหญ่ตั้งขึ้น เพื่อสนองตัณหาของตนนั้น กลับเป็นเครื่องพันธนาการสตรี ซึ่งถูกจองจำให้อยู่เหย้าเฝ้าเรือน ด้วยเท้าทั้ง สองข้างของเธอถูกมัดตรึง จำกัดการเติบโตให้อยู่ในรองเท้าดอกบัวทองคำขนาดเล็ก เพียงไม่กี่นิ้ว พอๆกับอิสรภาพของเธอที่ถูกรัดตรึงโดยสภาพสังคมที่กำหนดให้สตรี เป็นเพียงวัตถุสนองตัณหาความใคร่ของชาย
ทว่าอย่างน้อย พวกเธอก็ยังพอมีทางหาความสำราญเพียงน้อยนิดในบางโอกาส " ใน สมัยก่อนพวกเราฟังเพลง ที่วัยรุ่นสมัยนั้นนิยม แล้วก็เต้นรำไปตามท่วงทำนองที่ ได้ยิน ซึ่งเป็นเรื่องที่สนุกมาก พวกเรามีโอกาสได้ไปแสดงที่คุนหมิง รวมทั้งได้ รับเชิญไปยังปักกิ่ง และโตเกียว ถึงแม้ที่สุดแล้ว ฉันจะพลาดโอกาสงาม ด้วยมี ปัญหาสุขภาพ " แม่เฒ่าโจวกล่าว ขณะแกว่งเท้าขนาด 5 นิ้วของเธอไปมา พร้อมกับอวด รูปเธอกับเพื่อนคณะนักแสดงทุกคน ซึ่งถูกมัดเท้าจนเรียวเล็กเช่นเดียวกับเธอ
เมื่อแม่เฒ่า กับเพื่อนนักแสดงเริ่ม เต้นรำประกอบเพลงเมื่อเกือบ 25 ปี
ที่แล้ว ในขณะนั้น เป็นยุคทศวรรษที่ 1980 ที่จีนเพิ่งฟื้นตัวจากกระแสปฏิวัติ วัฒนธรรม (ค.ศ. 1969-1976) ซึ่งเป็นช่วงที่กระแสซ้ายจัดครอบงำจีนอย่างรุนแรง อะไรก็ตามที่เป็นตะวันตก หรือเป็นวัฒนธรรมของชนชั้นสูงเป็นสิ่งนอกรีต และจะต้องถูกกำจัดในยุคที่พวกเธอเริ่มสนุกสนานกับการเต้นรำนั้น มรดกตกค้างจากการปฏิวัติฯยังคงอยู่ พวกเธอถูกมองว่าเป็นพวกนอกคอก เป็นคนแปลกในสายตาของสังคม
หยังหยัง นักเขียนวัย 43 ซึ่งเติบโตมาท่ามกลางบรรยากาศหมู่บ้านหลิวอี้ว์ รำลึกถึงช่วงเวลานั้นว่า " ฉันและเพื่อนๆต้องแอบรวมกลุ่มเต้นรำตามเสียงเพลง " เพราะกระแสตกค้างจากการปฏิวัติยังคงอยู่ หยังกลับมายังหมู่บ้านเพื่อถ่ายทอด เรื่องราวของโจว และหญิงมัดเท้ารายอื่นๆกว่า 300 ชีวิต ซึ่งหยังประทับใจเรื่อง ราวของพวกเธอหลังได้ยินว่า แม่เฒ่าทั้งหลายต่างแอบเต้นรำประกอบเพลง ซึ่งเป็นที่ นิยมในหมู่วัยรุ่นสมัยหยัง
" คุณอาจจะเชื่อว่า สาวจากยุคประเพณีเก่าแก่เหล่านี้ ต้องต่อต้านการเต้นรำและเพลงสมัยใหม่ ทว่า น่าตกใจที่ พวกเธอกลับยอมรับสิ่งเหล่านี้อย่างเต็มใจ... ที่จริงบรรดาสาวๆที่ถูกพันธนาการอยู่ในกรอบจารีตประเพณี กลับเต้นได้ดีกว่าเราเสียอีก " หยังกล่าว
แม่เฒ่าโจว เอื้อนเอ่ยเรื่องราวของชีวิตห้วง 3 แผ่นดินของเธอว่า ก่อนประธานเหมาสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี ค.ศ. 1949 นั้น ชีวิตของพวกเธอแสนจะสุขสบาย ด้วยสังคมยังคงมีกระแสนิยมความงาม โดยวัดจากขนาดของเท้า ยิ่งเท้าเล็กเท่าไหร่ยิ่งหมายถึง โอกาสที่มากขึ้นเท่านั้น เท้าดอกบัวทองคำของแม่เฒ่าโจว ทำให้เธอได้มีโอกาสแต่งงานกับชายหนุ่มรูปหล่อ ฐานะดี ซึ่งชีวิตสมรสของเธอก็ดำเนินไปอย่างสุขสม แม้จะต้องแต่งงานถึง 2 ครั้ง
กระทั่งยุคปฏิวัติจีนใหม่ของพรรคค้อนเคียว ที่พิชิตชัยชนะในปี ค.ศ. 1949นั้น ชะตาของแม่เฒ่าก็ถึงจุดพลิกผัน เมื่อบ้านของเธอถูกยึด พ่อแม่สามีคนที่ 2ถูกทุบตีจนตาย เนื่องจาก ครองทรัพย์สินจำนวนมหาศาล ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดกับสังคมคอมมิวนิสต์ โจวถูกริบทรัพย์สิน จนเธอจำต้องยอมก้มหน้ารับชะตากรรม ทำงานหนักในคอมมูน ทั้งที่เท้าทั้งสองข้างก็มิอำนวยให้เธอใช้แรงงงาน
ทว่า ฝันร้ายยังไม่จบ หยังเยี่ยว์สือ เพื่อนบ้านของโจว สะท้อนประสบการณ์อันขมขื่นว่า " พวกเราต้องซ่อนเท้าเล็กๆ ด้วยการสวมใส่รองเท้าขนาดปกติ ที่มีขนาด ใหญ่กว่าเท้าของเรามาก " หญิงชราซึ่งครั้งหนึ่งเคยได้รับการยอมรับว่า " เป็นสาวงามเจ้าของเท้าขนาด 3 นิ้ว! " กล่าว
แม้ดร. ซุนยัตเซ็นจะประกาศ ทลายประเพณีมัดเท้าตั้งแต่ครั้งปฏิวัติซินไฮ่ปี ค.ศ. 1911 ทว่า ครัวเรือนชนบทยังคงลักลอบมัดเท้า ตราบจนพรรคอมมิวนิสต์เถลิงอำนาจ ประชาชนถูกเกณฑ์ใช้แรงงานในคอมมูน ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบได้อย่างชัดเจนว่า ครอบครัวใดยังคงมัดเท้าอยู่ ประเพณีโหดร้าย ที่มีอายุนับพันปีจึงถึงกาลอวสาน
ตำนานที่นิยมอย่างแพร่หลายกล่าวว่า ประเพณีมัดเท้านั้นมีรากที่มา และการปฏิบัติอย่างจริงจังในราชสำนักถัง เมื่อจักรพรรดิหลี่อี้ว์ตกหลุมรักนางรำนามเหยาหนิง ซึ่งมีเท้าเล็กจิ๋วตามธรรมชาติ ขณะร่ายรำพร้อมสวมรองเท้าขนาดเล็กพันด้วยผ้าไหมประดับไข่มุกขาวนวล และอัญมณีเลอค่า
ประเพณีดังกล่าวค่อยแพร่มายังชนชั้นล่าง ด้วยพวกเขาเชื่อว่า จะช่วยยกระดับทางสังคม และเสริมความงามให้กับหญิงสาว จนในที่สุด เท้าของหญิงสาวกลายเป็นเครื่องตัดสินอนาคตชีวิตสมรส และความพึงพอใจทางกามารมณ์ที่ชายพึงมีต่อหญิง
ฉะนั้น หญิงสาวแดนมังกรจำนวนมาก จำต้องพิกลพิการเพราะวัตรปฏิบัติ สนองตัณหาชายดังกล่าว
เพื่อที่จะได้เท้าขนาดเล็ก ซึ่งเรียกขานกันว่าเท้าดอกบัว (ในรายที่เล็ก มากจะเรียกดอกบัวทองคำ) สาวน้อยวัย 6 ปี จะถูกนำตัวมาบิดงอรวบนิ้วเท้าทั้ง 5 เข้าหากัน จากนั้น จึงพันด้วยผ้าลินินขาวสะอาด ไล่จากหัวแม่เท้ายันปลายเท้าอย่างแน่นหนา กระทั่งกระบวนการแสนทรมานดังกล่าวผ่านไป กระดูกเท้าของหญิงสาวเหล่านั้น จะค่อยเติบโตอย่างผิดรูปผิดร่างภายใต้รองเท้าเล็กกระจิดริด ซึ่งพวกเธอแต่ละคนจะทำขึ้นใช้เอง
เมื่อเยื้องย่างด้วยท่าอ้อนแอ้นแลดูสวยงาม ความเจ็บปวดแสนสาหัส ราวเข็มพันเล่มกลับทิ่มแทงพวกเธอมิรู้จบ เท้าที่ถูกพันธนาการอย่างแน่นหนา จนเป็นแผลเน่าส่งกลิ่นเหม็น แต่ด้วยความจำยอม ปล่อยให้ประเพณีจองจำอิสรภาพ พวกเธอจึงต้องจำทน ให้เท้าที่ดูสมส่วนสวยงามตามธรรมชาติ ต้องกลายสภาพเป็นเท้าคนพิการตลอดชีวิต
ครั้นจีนเข้าสู่ยุคปฏิรูปเปิดประประเทศ ชะตากรรมของสตรีค่อยดีมากขึ้นทุกวันนี้ ผู้หญิงสามารถเลือกกำหนดชะตาชีวิตตัวเองได้มากกว่าแต่ก่อนบทบาททางสังคม และอาชีพการงาน ก็ก้าวหน้าอย่างมาก แม่เฒ่าเผยว่าเธอไม่รู้สึกเสียใจกับ เรื่องที่ผ่านมา พร้อมกล่าวว่า " ฉันมีสามี 2 ลูก 4... คนหนึ่งก็เรียนอยู่ระดับมหาวิทยาลัย ผู้หญิงเดี๋ยวนี้ ก็สามารถขับรถได้ สิ่งต่างๆ ดีขึ้นกว่าก่อนเยอะ "
ทว่า ในกระแสบริโภคนิยมทุกวันนี้ เรื่องราวของแม่เฒ่านับวันจะยิ่งเลือนหาย เหลือเพียงตำนานและเรื่องเล่าว่า " เคยมีประเพณีแสนโหดร้ายชื่อว่า " มัดเท้า " ในแผ่นดินจีน " หญิงสาวในห้วงพันปีต่างตกเป็นเหยื่อโศกนาฏกรรมดังกล่าว พวกเธอ กำลังจะถูกลืม ใครเล่าจะเป็นห่วง...ทวงสิทธิของเธอกลับมา... ใครเล่าจะรับประกัน
ว่า... เรื่องเล่าโหดร้ายนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก เมื่อผู้หญิงยังถูกแปรเปลี่ยนเป็น
วัตถุสนองตัณหา ระบายความใคร่ของบุรุษเพศ อย่างไม่สิ้นสุด
credit:jabchai